เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ทรงรอเฝ้า ฯ รับเสด็จ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย รองศาสตราจารย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะกรรมการสภากาชาดไทย และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เฝ้า ฯ รับเสด็จ
การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การดำเนินงานจัดสร้างอาคาร "จักรีทศมรามาธิบดินทร์" โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ #สภากาชาดไทย พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ ฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดอาคาร"จักรีทศมรามาธิบดินทร์"
จากนั้น เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่ออาคาร "#จักรีทศมรามาธิบดินทร์" แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม เหรัญญิกสภากาชาดไทย เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี รองศาสตราจารย์ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้บริจาคเงินสมทบทุนในการก่อสร้างอาคารตามลำดับ
จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธีทรงประเคนของที่ระลึก แก่พระราชวรญาณโสภณ (ชุบ ศรีจันอยู่)เจ้าอาวาสวัดธาตุทอง แล้วทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” ประกอบด้วย “สืบสาน” จัดแสดงเรื่องราวในอดีตตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตามพระราชปณิธานของ #พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ตั้งแต่ พ.ศ. 2457 และพัฒนาการงานบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถึงปัจจุบัน “รักษา” บอกเล่าเรื่องราวปัจจุบันที่ #โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย พร้อมทั้งจัดแสดงความสำเร็จ ของโครงการ “แสงแห่งความหวัง” โครงการรักษาพยาบาลด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ประกอบด้วย การรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน 72ราย การผ่าตัดโรคเนื้องอกในช่องอกและช่องท้องด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด 72 ราย การผ่าตัดกระดูกสันหลังด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย การรักษาโรคทางกระจกตาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง 36 ราย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมประชาชนทุกหมู่เหล่าทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่ใช้เทคโนโลยีอันซับซ้อน เข้าถึงได้ยากและมีค่าใช้จ่ายสูง หายขาดจากโรคทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี “ต่อยอด” เป็นการจัดแสดงก้าวไปสู่อนาคตโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการบริการผู้ป่วย ประกอบด้วย หุ่นยนต์จ่ายยา หุ่นยนต์ลงทะเบียนและคัดกรอง หุ่นยนต์ช่วยรักษามะเร็งไทรอยด์ และการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หลากหลายรูปแบบ ในขั้นตอนการบริการต่าง ๆ และการปรับขั้นตอนบริการเพื่อให้ครบวงจรในจุดเดียวโดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง เสร็จแล้ว เสด็จเข้าห้องรับรอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
ทั้งนี้ #พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามอาคารศูนย์บูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อาคารผู้ป่วยนอกหลังใหม่) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ว่า “อาคาร #จักรีทศมรามาธิบดินทร์” มีความหมายว่า อาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระรามาธิบดินทรราชา รัชกาลที่ 10 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
“อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์” ตั้งอยู่ระหว่างอาคาร #ภปร และตึก #สก. โดยเป็นส่วนต่อขยาย จากอาคาร #ภปร เพื่อยกระดับมาตรฐานการคัดกรองและรักษาพยาบาลระบบผู้ป่วยนอก มุ่งบริการให้มีความสะดวก รวดเร็ว คุ้มค่า มากยิ่งขึ้น และก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บูรณาการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มพื้นที่เชื่อมโยงการให้บริการผู้ป่วยนอกร่วมกับอาคาร ภปร ซึ่งเป็นอาคารผู้ป่วยนอกหลักของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มานานกว่า 30 ปี ดังนั้น จึงนับว่า “#อาคารจักรีทศมรามาธิบดินทร์” เป็นอาคารผู้ป่วยนอกที่มีความสำคัญเป็นลำดับที่ 4ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ได้สืบสานพระราชปณิธานในการดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญในการด้านการรักษาและต่อยอดสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ยังเป็นสัญลักษณ์ในการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ในการบำบัดโรคภัย ให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชนถ้วนหน้าเสมอกัน
ตัวอาคารมีชั้นใต้ดิน 4 ชั้น และชั้นเหนือพื้นดิน 15ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 50,000 ตารางเมตร เชื่อมโยงระหว่าง อาคาร ภปร ทำให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวก และมีโอกาสเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้นแบบครบวงจร เป็นต้นแบบการบริบาลผู้ป่วยนอกของประเทศ พร้อมทั้งเป็นการยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่มาตรฐานสากล
ที่มา : Facebook สภากาชาดไทย