โรคปากแหว่งเพดานโหว่เป็นความผิดปกติของใบหน้าที่เกิดกับทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์โดยในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ประมาณ 1- 2 รายต่อทารกแรกเกิด 1,000
รายต่อปีสามารถตรวจพบและให้การวินิจฉัยได้โดยง่ายตั้งแต่แรกเกิดแต่มักพบการละเลยและความล่าช้าในการดูแลรักษาทำให้เกิดปัญหาและภาวะแทรกซ้อนหลายประการเช่นการป้อนนมและการรับประทานอาหารทำให้เกิดการสำลักเกิดภาวะปอดอักเสบการติดเชื้อเรื้อรังในหูทำให้เกิดหูน้ำหนวก ความผิดปกติในการสื่อสารทำให้พูดไม่ชัดและรูปลักษณ์ที่ผิดปกติซึ่งอาจก่อให้เกิดผลเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ คุณภาพชีวิตและการเข้าสังคม
โครงการ“ยิ้มสวยเสียงใส”เทิดพระเกียรติ 50 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสภากาชาดไทย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สมาคมศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศไทยและสมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ทุกรายให้ได้รับการผ่าตัดรักษาการดูแลต่อเนื่องทางทันตกรรมจัดฟันและแก้ไขการพูดซึ่งเป็นการรักษาที่มีความยุ่งยากซับซ้อนและในแต่ละรายใช้เวลารักษามากกว่า
1 ครั้ง บางรายต้องรักษาต่อเนื่องนานหลายปีและสร้างเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่การค้นหา คัดกรอง การรักษาทางศัลยกรรม ทันตกรรม การฝึกพูดรวมถึงการค้นหาปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีและลดอุบัติการณ์เกิดโรคถือเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ปัญหาความพิการปากแหว่งเพดานโหว่ในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ
ตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทยได้ให้การรักษาผู้ป่วยผ่าตัด ใส่เพดานเทียม จัดฟัน และแก้ไขการพูดกว่า 200,000 ครั้งรวมเป็นเงินกว่า 120,000,000 บาทและจัดส่งหน่วยทันตกรรมสัญจรเพื่อจัดฟันให้กับผู้ป่วยกว่า 5,000 รายได้รวมเป็นเงินกว่า 600,000 บาทจากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ภายใต้โครงการทุกรายที่ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถเข้าสังคมได้รับการศึกษาและสามารถประกอบอาชีพได้ดี