เว็บไซต์รับบริจาคเงิน สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ DonationHUB “รับ” เพื่อ “ให้”
TH
|
EN

บริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งที่ซับซ้อนด้วยอนุภาคโปรตอน

28/11/2024 - 28/11/2025
โครงการต่อเนื่อง
ชวนเพื่อนมาบริจาค
คัดลอกแล้ว

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆของคนทั่วโลกโดยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 5 อันดับของประเทศไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตามลำดับ จากสถิติโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2567 พบว่าในแต่ละปีมีคนไทยป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน เสียชีวิตประมาณ 83,000 คน

 

การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยรังสีรักษานับเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องโดยในปัจจุบันนวัตกรรมที่ให้ประสิทธิภาพสูงและเกิดผลข้างเคียงน้อยคือการรักษาด้วยการใช้อนุภาคโปรตอนซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เริ่มเตรียมการให้บริการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2557และนับว่าเป็นบริการการรักษาโรคมะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมทั้งยังได้รับพระราชทานชื่อจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่า “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” อีกทั้งทรงให้การสนับสนุน และตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งอย่างครบวงจรในประเทศไทย เพื่อยกระดับและพัฒนาด้านวิธีการรักษาโรคมะเร็งให้ดียิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยที่สุดตามมาตรฐานระดับสากล

โปรตอนเป็นอนุภาคที่ได้จากเครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน ซึ่งสามารถมุ่งเป้าในการรักษาได้ด้วยการกำหนด ทิศทางเข้าไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างตรงจุดมากยิ่งกว่ารังสีปกติ ทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบก้อนมะเร็ง ทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังจะได้รับปริมาณรังสีที่น้อยหรือแทบไม่โดนรังสี ผลกระทบจากรังสีตกค้าง ในร่างกายจึงมีผลดีกว่ารูปแบบอื่น การรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน แพทย์มักจะเลือกใช้รักษามะเร็งในส่วนที่ก้อนเนื้อใกล้เคียงกับอวัยวะสำคัญ หรืออวัยวะที่สัมผัสรังสีไม่ได้ เช่น มะเร็งกระดูกฐานกะโหลกศีรษะ มะเร็งบริเวณไซนัส หรือ มะเร็งตับ เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นนวัตกรรมที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ทุกเพศ ทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเด็ก เพราะรังสีที่ตกกระทบอวัยวะปกติข้างเคียงมากเกินไปจากการรักษาด้วยรังสีปรับความเข้ม ย่อมมีผลต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก


เมื่อวันที่
 20 มิถุนายน พ.ศ.2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานในการติดตั้งเครื่องไซโคลตรอน ณ “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” เริ่มเปิดให้บริการรักษาผู้ป่วยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันรวมมีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาทั้งสิ้นจำนวนมากกว่า 865 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567)ซึ่งจำแนกออกเป็นประเภทของกลุ่มโรค 3 อันดับแรกที่มาเข้ามารับการักษา ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ และมะเร็งในสมอง โดยเป็นคนไทย 90% และ ชาวต่างชาติ 10%

 

ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นับเป็นมิติใหม่ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนซึ่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบในการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อมอบการรักษาที่ดีที่สุดและเข้าถึงง่ายที่สุดให้แก่ผู้ป่วยทุกคน

 

ประโยชน์ในการรักษามะเร็ง ด้วยเครื่องโปรตอน

ด้วยเทคโนโลยีของเครื่องโปรตอนมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งมีทั้งกลุ่มโรคที่มีผลการศึกษาวิจัยรองรับ และกลุ่มโรคที่อยู่ในระหว่างการศึกษา ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง โรคมะเร็งที่สามารถรักษาได้ ด้วยอนุภาคโปรตอน อ้างอิงจาก ASTRO Model Policies 2017 และ JASTRO 2017 แบ่งออกเป็น

 

กลุ่มโรคที่มีผลการศึกษารองรับประโยชน์ของอนุภาคโปรตอน

·      โรคมะเร็งในเด็ก (Pediatric Tumors)

·      เนื้องอกและมะเร็งที่ฐานกะโหลกศีรษะ (Base of Skull Tumors)

·      เนื้องอกและมะเร็งในสมองและไขสันหลัง (Brain and Spinal Tumors)

·      โรคมะเร็งตา (Ocular Tumors) -โรคมะเร็งหูคอจมูก (Head and Neck Cancers)

·      โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular Cancer) – โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (Soft Tissue)

·      โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) -โรคมะเร็งที่ต้องได้รับการฉายรังสี (Re-rradiation)

 

 

กลุ่มโรคที่อยู่ในระหว่างการศึกษายืนยัน ถึงประโยชน์ของอนุภาคโปรตอน

·       โรคมะเร็งปอดและทรวงอก (Lung and Mediastinal Tumors)

·       โรคมะเร็งทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Malignancies)

·       ได้แก่ โรคมะเร็งหลอดอาหาร (Esophageal Cancer) โรคมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic Cancer) โรคมะเร็งท่อน้ําดี (Biliary Cancers)

·       โรคมะเร็งในลําไส้ตรงและทวารหนัก (Rectal and Anal Cancer)

·       โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Cancer)

·       โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer)

·       โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer)

688
จำนวนผู้ร่วมบริจาค
311 วัน
ระยะเวลาคงเหลือ
ร่วมบริจาค