เว็บไซต์รับบริจาคเงิน สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ DonationHUB “รับ” เพื่อ “ให้”
TH
|
EN

ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

21/03/2025 - 21/03/2026
โครงการต่อเนื่อง
ชวนเพื่อนมาบริจาค
คัดลอกแล้ว

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาการของโรคพาร์กินสัน แบ่งออกเป็นอาการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่ สั่น มักพบที่มือ แขน ขา หรือศีรษะ เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง  อาการทางจิตใจ ได้แก่ ซึมเศร้า วิตกกังวล ความจำและสมาธิไม่ดี มีปัญหาการนอนหลับ ท้องผูก เหงื่อออกมาก และอาการอื่นๆ ได้แก่ เสียงพูดเบาลง เขียนหนังสือตัวเล็กลง หน้าบึ้ง เป็นต้น

 

องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2040 จำนวนผู้ป่วยของโรคพาร์กินสัน ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากสถิติปี พ.ศ. 2551 - 2554 ประเทศไทยมีผู้ป่วยพาร์กินสันมากกว่า 60,000 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด (242.57 คน ต่อประชากร 100,000 คน) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

 

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพาร์กินสัน สามารถทำได้ด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการตรวจติดตามอาการอยู่หลายครั้ง จะมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 แต่หากเป็นโรคพาร์กินสันในระยะแรกที่แสดงยังไม่มาก ความแม่นยำในการวินิจฉัยจะลดลง อยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 40 - 50 ทำให้การวินิจฉัยผู้ป่วยพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (early stage) ทำได้ยาก และมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (underdiagnosed) จำนวนมาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทจำนวนจำกัด และในบางพื้นที่ยังขาดแคลนแพทย์สาขานี้ จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยากกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัย จึงมีอาการค่อนข้างมากหรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลางแล้วซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มาก ผู้ป่วยเริ่มเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2549 ปัจจุบันเปิดให้บริการการรักษา ได้แก่ คลินิกโรคพาร์กินสัน คลินิกพาร์กินสันที่มีอาการซับซ้อน คลินิกพาร์กินสันเทียมและกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติอื่น ๆ คลินิกฉีดยาลดเกร็ง คลินิกเดินดี คลินิกพาร์กินสันแจ่มใส คลินิกไฟฟ้าวินิจฉัยกล้ามเนื้อ และคลินิกปรับสภาพบ้านสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน ส่งผลให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุดและผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวมในทุก ๆ ด้าน และเป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้มีการเปิดหลักสูตรอบรม แพทย์ประจำบ้านต่อยอดในสาขาโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ  (Fellowship in Parkinson’s disease and Movement Disorders) อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการวิจัย ดำเนินการศึกษาวิจัยทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อให้ได้องค์ความรู้ หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย และพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอให้มีความถูกต้องและเหมาะสม

ในปี 2568 ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่น Check PD” ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ในการวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสัน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถวางแผนการดูแลสุขภาพ การป้องกันและการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถตรวจเช็กความเสี่ยงการเป็นโรคพาร์กินสันได้ด้วยตนเอง สำหรับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และสามารถรับผลในแอปพลิเคชั่นได้ซึ่งมีความแม่นยำสูงถึง 90%

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งเน้นการบริการโดยผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเพื่อให้บริการที่คลอบคลุมทั้งด้านการรักษาที่ทันสมัย และครบวงจร ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยและผู้ดูแลได้รับการดูแลรักษาด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ทันสมัย ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น รวมทั้งสังคมเข้าใจโรคพาร์กินสัน อาการแสดงของโรคมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยพาร์กินสันมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติ

 

ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับ

                     1. ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันสามารถเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัยและครบวงจร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ

                    2. ประชาชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่บวกับโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติเพิ่มขึ้น

46
จำนวนผู้ร่วมบริจาค
352 วัน
ระยะเวลาคงเหลือ
ร่วมบริจาค