ในทางการแพทย์แล้วการใช้สเต็มเซลล์เพื่อการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาผู้ป่วยด้วยโรคทางโลหิตวิทยาให้หายขาด แต่การที่จะเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์นั้นก็เป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถหาผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่มีผลเนื้อเยื่อ HLA ตรงกันกับผู้ป่วยได้ เนื่องจากหากเป็นพี่น้องท้องเดียวกันจะมีโอกาสตรงกัน 1 ใน 4 จึงต้องใช้สเต็มเซลล์จากผู้ที่ไม่ใช่ญาติ ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมากหรือเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้น
ในประเทศไทย ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้รับมอบหมายจากแพทยสภา ให้จัดตั้ง “ธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตแห่งชาติ” (Thai National Stem Cell Donor Registry : TSCDR) เป็นศูนย์กลางทะเบียนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ตั้งแต่ปี 2545 เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางจัดหาและทะเบียนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตที่ไม่ใช่ญาติให้แก่ผู้ป่วย รวมถึงตรวจคัดกรองเนื้อเยื่อ HLA เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้บริจาคโลหิตที่ลงทะเบียนเป็นอาสาสมัครบริจาคเสต็มเซลล์จำนวน 299,628 ราย แต่มีผู้บริจาคสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้ป่วยไปแล้วจำนวน 457 ราย และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จำนวน 2,407 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง โรคธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่พบผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อ HLA ตรงกันแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถรับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้ เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2-3 ล้านบาทต่อราย ทั้งยังเป็นการรักษาที่ต้องต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ป่วยต้องสูญเสียโอกาสในการรักษา
สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ จึงขอเชิญชวนท่านผู้มีจิตกุศลทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ “สมทบทุนช่วยผู้ป่วยปลูกถ่าย Stem Cell” เพื่อให้ผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น