เว็บไซต์รับบริจาคเงิน สภากาชาดไทย โดยสำนักงานจัดหารายได้ DonationHUB “รับ” เพื่อ “ให้”
TH
|
EN

ค้นหาพาร์กินสัน พาผู้ป่วยพบแพทย์

01/02/2024 - 31/01/2025
โครงการใหม่
ชวนเพื่อนมาบริจาค
คัดลอกแล้ว

 โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากโรคอัลไซเมอร์ โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 50 ปี อาการของโรคพาร์กินสันแบ่งออกเป็นอาการทางการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดได้แก่ สั่น มักพบที่มือ แขน ขา หรือศีรษะ เคลื่อนไหวช้าลง กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง  อาการทางจิตใจได้แก่ ซึมเศร้า วิตกกังวล ความจำและสมาธิไม่ดี มีปัญหาการนอนหลับ ท้องผูก เหงื่อออกมาก และอาการอื่นๆได้แก่ เสียงพูดเบาลง เขียนหนังสือตัวเล็กลง หน้าบึ้ง เป็นต้น


องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2040 จำนวนผู้ป่วยของโรคพาร์กินสันในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากสถิติปี พ.ศ. 2551 - 2554 ประเทศไทยมีผู้ป่วยพาร์กินสันมากกว่า 60,000 ราย หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด (242.57 คน ต่อประชากร 100,000 คน) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ปัจจุบันการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันสามารถทำได้ด้วยการซักประวัติและการตรวจร่างกายซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการตรวจติดตามอาการอยู่หลายครั้งจะมีความแม่นยำอยู่ที่ประมาณร้อยละ 80 แต่หากเป็นโรคพาร์กินสันในระยะแรกที่แสดงยังไม่มากความแม่นยำในการวินิจฉัยจะลดลงอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 - 50 ทำให้การวินิจฉัยผู้ป่วยพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (early stage) ทำได้ยากและมีผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย (underdiagnosed) จำนวนมาก นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาทจำนวนจำกัดและในบางพื้นที่ยังขาดแคลนแพทย์สาขานี้จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาได้ยากกว่าที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยจึงมีอาการค่อนข้างมากหรืออยู่ในระยะการดำเนินโรคระยะกลางแล้วซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่มากผู้ป่วยเริ่มเกิดความทุพพลภาพ และส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

 

ในปี 2565 สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาดได้สนับสนุนศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้พัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้สามารถวินิจฉัยกลุ่มอาการโรคพาร์กินสันได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเข้าถึงได้โดยสามารถค้นหาผู้ป่วยระยะแรกกลุ่มที่มีความเสี่ยง กลุ่มที่มีอาการนำในพื้นที่ของเหล่ากาชาดจังหวัดทั้ง 76 และกิ่งกาชาดอำเภอ 288 อำเภอทั่วประเทศโดยคัดกรองด้วยข้อมูล ดังนี้


1. แบบสอบถามต้นแบบนวัตกรรมชุดคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคพาร์กินสันเคลื่อนที่คัดกรองผู้ป่วยพาร์กินสันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและเซ็นเซอร์

2. การคัดกรองเสียง ที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของการพูดประกอบด้วยการบันทึกเสียง การเก็บเสียงและการดึงข้อมูล ห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

3. การทดสอบลายมือเขียน ด้วยการเขียนเป็นประโยคและวงกลมก้นหอย

4. การทดสอบความคล่องแคล่วของนิ้วมือและการแตะสลับนิ้ว หรือ alternative tap test

5. การประเมินอาการสั่น (tremor analysis)

6. การประเมินการเดิน (gait analysis)

ทั้งนี้หากได้รับการคัดกรองแล้วจะให้การรักษาที่เหมาะสมตามมาตรฐานของโรคพาร์กินสันรวมถึงการดูแลด้านอาหารโภชนาการ การออกกำลังกาย และการนอนหลับ

 

วัตถุประสงค์

1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ครบ 68 พรรษา 2 เมษายน 2567

2. เพื่อสำรวจและคัดกรองประชาชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน โดยสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน เหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ทั่วประเทศ

3. เพื่อให้ผู้ที่ได้รับการคัดกรองที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสันได้รับการตรวจวินิจฉัย และได้รับการบริการทางการแพทย์

4. ผู้ป่วยที่ได้รับการคัดกรองและมีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ได้รับการส่งต่อระบบสาธารณสุขให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ

1. ประชาชนที่มีความเสี่ยงในทั่วประเทศ ได้รับการคัดกรองโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเพื่อส่งต่อเข้าระบบสาธารณสุขช่วยในการรักษาที่รวดเร็ว ต่อเนื่อง และส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2. ประชาชนมีความรู้ในการป้องกัน การปฏิบัติตนและการใช้ชีวิตร่วมกับโรคพาร์กินสัน


1,012
จำนวนผู้ร่วมบริจาค
71 วัน
ระยะเวลาคงเหลือ
ร่วมบริจาค